เหล็ก อะลูมิเนียม เงิน หรือทอง ทั้งหมดที่เขียนมานี้ เรียกว่า โลหะ ซึ่งมีคุณสมบัติแตกต่างกันไป และมีความมันเงา วิ๊งวับสุด ๆ ซึ่งสามารถเห็นงานศิลปะที่มีโลหะพวกนี้อยู่ในภาพวาดหลายรูป
แต่เคยสงสัยกันรึเปล่า ว่าเขาลงสีกันยังไงนะ ? ถึงได้ออกมาดูสวย และหรูหราแบบนั้น มาลองอ่านคำตอบกัน !
โดยการลงสีน้ำที่มีวัตถุที่มีความมันเงา เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม หรือโลหะอื่น ๆ จะมีเทคนิคคล้าย ๆ กัน ที่ต่างออกไปจะมีเพียงพื้นผิวของวัตถุเท่านั้น ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจในเรื่องของแสง-เงาเป็นอย่างมาก
เราต้องเข้าใจในลักษณะ และคุณสมบัติของวัตถุนั้น ๆ ก่อน ว่ามีความหนา-บางแค่ไหน ? พื้นผิวเป็นแบบไหน ? หรือวัตถุนั้นมีสีอะไร ? และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ แสง-เงา
สังเกตแสง-เงาของโลหะ
เรื่องของแสง-และเงา คือ ปัจจัยหลัก ๆ โดยกฎง่าย ๆ ของแสงก็คือการเดินเป็นเส้นตรงเสมอ และจะสะท้อนกับพื้นผิวนั้น ๆ ไปหายังอีกวัตถุอื่น ๆ หรือดวงตาของเรา
ซึ่งโลหะสามารถสะท้อนแสงได้ดีกว่า เพราะทั้งสองมีความมันเงากว่า ต่างจากวัตถุที่มีผิวด้าน โดยความมันเงานี้ จึงทำให้เวลาวาดจะมีรายละเอียดของแสงเงาเพิ่มเข้าไปอีก แบ่งง่าย ๆ เป็น 4 ขั้น ได้แก่
ขั้นที่ 1 แสงสะท้อนที่กระทบโดยตรงลงบนวัตถุ
ขั้นที่ 2 แสงสะท้อนจากสิ่งอื่นรอบข้าง เช่น ถ้าเราวางลูกบาศก์อะลูมิเนียมไว้ข้างหน้าผลแอปเปิล แสงก็จะสะท้อนกับผลแอปเปิลและสะท้อนต่อไปหาลูกบาศก์อะลูมิเนียมอีกที ซึ่งลูกบาศก์ก็จะสะท้อนภาพของผลแอปเปิลนั่นเอง
ขั้นที่ 3 เงา ซึ่งจะเกิดขึ้นในทิศตรงข้ามกับทิศทางของต้นกำเนิดแสง
ขั้นที่ 4 แสงที่สะท้อนจากพื้นที่วัตถุนั้นวางอยู่
แหล่งที่มาข้อมูล : CLIP STUDIO TIPS : How to Paint Metal Material
ขั้นตอนการลงสีน้ำโลหะให้ดูสมจริง
1.ใช้เทคนิคสีน้ำ เปียกบนเปียก
เทคนิคการลงสีของวัตถุที่มีความมันเงาที่เราจะใช้ก็คือ เปียกบนเปียก หรือการทาน้ำเปล่าลงไปบริเวณที่เราจะลงสีแล้วค่อยระบายสีนั้นลงไปตาม
เพราะแสงที่กระทบบนพื้นผิวจะมีความเบลอนิดหน่อย เมื่อใช้เทคนิคเปียกบนเปียกก็จะช่วยให้สีมีความฟุ้งกระจาย ทำให้สามารถไล่สีได้ง่ายขึ้น และสีก็จะผสมเข้าหากันได้ ซึ่งทำให้ระบายพื้นผิวได้สมจริงขึ้นนั่นเอง แต่ก็สามารถเลือกใช้เทคนิคศิลป์อื่น ๆ ได้ตามความถนัดเลย
2.ลงสีส่วนที่เป็นสีอ่อนก่อน
ลงสีที่อ่อนที่สุดลงไปก่อน เพื่อที่เราจะลงสีได้ง่าย และสามารถไล่สีที่มืด-สว่างได้ดี อีกทั้งเพื่อป้องกันการลงสีผิด เพราะถ้าลงในส่วนที่มืด หรือสีที่เข้มกว่าก่อน จะแก้ไขสีให้อ่อนลงได้ยากนั่นเอง
3.ลงสีส่วนของเงา
เมื่อลงส่วนที่อ่อนกว่าแล้ว รอให้แห้งหลังจากนั้นก็จะค่อย ๆ เพิ่มน้ำหนักสีให้เข้มขึ้นในส่วนของเงาบนวัตถุ โดยผสมสีให้เข้มขึ้นมาอีกเฉด แล้วลงสีทับในส่วนที่เป็นเงาบนวัตถุ
ทริคของการลงสีน้ำ ด้วยความที่พื้นผิวมีความมันเงา จะทำให้เห็นเงาสะท้อนของวัตถุที่อยู่ใกล้ ๆ สีนั้นก็จะสะท้อนอยู่ในพื้นผิวที่เราลงสีด้วย
4.เพิ่มแสงสะท้อน
สุดท้ายคือเพิ่มแสงสะท้อนที่กระทบลงบนวัตถุ หรือแสงสะท้อนในวัตถุ เช่น ส่วนที่ใกล้กับจุดกำเนิดแสงที่สุด โดยใช้ปากกาสีขาว หรือสีโปสเตอร์สีขาวก็สามารถใช้ได้ เพราะมีคุณสมบัติทึบแสงลงทับกับสีน้ำได้
ลองดูเป็นวิดีโอเพื่อให้ฝึกได้ง่ายขึ้น !
หลัก ๆ ของการลงสีในพื้นผิวต่าง ๆ สิ่งที่สำคัญมาก็คือ แสงและเงา ซึ่งต้องใช้การสังเกตและความเข้าใจมากพอควร แต่ก็สามารถฝึกได้เองง่าย ๆ ด้วยการลองฝึกสังเกตสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เช่น เสาไฟฟ้า กระป๋องน้ำอัดลม กระจก หรือแก้วเองก็ยังได้
น้อง ๆ ลองฝึกสังเกตและฝึกวาดตามกันนะค่าาา บอกเลยว่าเราจะมีสมาธิและสามารถสร้างสรรค์งานศิลป์ได้ดีขึ้นแน่นอน !
Comments