สีน้ำ สีอีกชนิดที่ถูกใช้ในงานศิลปะอย่างแพร่หลายในงานศิลปะ ทำจากผงสีผสมกับกัมอารบิก (น้ำยางธรรมชาติจากเปลือกต้นไม้ของพืชในกลุ่มอากาเซีย เช่น ต้นอากาเซียเซเนกัล) และน้ำ ซึ่งไม่เหมาะกับใช้ระบายลงกระดาษทั่วไป เพราะอาจทำให้กระดาษเปื่อยยุ่ยได้ จึงต้องใช้คู่กับกระดาษ 100 ปอนด์ ผิวหยาบ หรือกระดาษที่มีความหนาเป็นพิเศษนั่นเอง
กระดาษ 100 ปอนด์ ผิวหยาบ
เมื่อทำความรู้จักกับสีน้ำแล้ว เรามารู้จักเทคนิคการใช้สีน้ำเบสิก ๆ กันดีกว่า ! ซึ่งเป็นเทคนิคที่จะใช้ได้ในงานสีน้ำทุกแบบและยังทำให้ทำงานกับสีได้รวดเร็วยิ่งขึ้น มาดูกันว่ามีเทคนิคอะไรที่เราลองฝึกกันได้บ้าง…
5 เทคนิคการใช้สีน้ำ
1. เทคนิคไล่สีน้ำจาก อ่อน-เข้ม
เทคนิคแรกจะเป็นการระบายสีน้ำให้ไล่จากสีอ่อนไปหาสีเข้ม หรือสีเข้มไปสีอ่อน โดยความอ่อนหรือเข้มจะขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำเปล่าที่ผสมให้สีเจือจางลงไปค่ะ
เช่น เราจะให้สีน้ำเงินนั้นไล่จากสีเข้มไปสีอ่อน เราต้องเริ่มจากการระบายน้ำเปล่าลงไปก่อน และค่อย ๆ เพิ่มสีน้ำเงินลงไป โดยตรงไหนเป็นส่วนที่เข้มเราจะระบายสีเน้นตรงนั้นเยอะ ๆ และส่วนไหนที่เป็นสีอ่อน ก็ค่อย ๆ ลดปริมาณสีลง จากสีน้ำเงินก็จะไล่ไปเป็นสีฟ้าอ่อนนั่นเองค่ะ
ซึ่งการใช้เทคนิคนี้จะต้องใจเย็นมาก ๆ เพราะถ้าผสมน้ำเยอะเกินไป อาจทำให้สีด่างได้ ! เทคนิคการไล่สี จะช่วยฝึกการควบคุมปริมาณน้ำในพู่กัน ไม่ให้เยอะหรือน้อยจนเกินไป ฝึกบ่อย ๆ ก็จะสามารถควบคุมการกะปริมาณน้ำได้เอง
ฉะนั้นถ้ากะปริมาณน้ำไม่ถูก ให้ลองผสมน้ำกับสีให้อ่อนลงก่อน แล้วค่อยลงสีทับส่วนที่ต้องเข้มอีกที จะทำให้เราควบคุมสีได้ดีขึ้นค่ะ และเทคนิคนี้จะทำให้งานมีมิติ และดูสมจริงมากขึ้น
2. เทคนิคไล่สีน้ำ 2 สีเข้าหากัน
เทคนิคนี้จะคล้าย ๆ กับเทคนิคไล่สีอ่อนไปเข้ม โดยจะไล่สีที่มากกว่า 2 สีขึ้นไป โดยจะระบายสีทั้งสองสีลงในพื้นที่เดียวกัน แล้วใช้พู่กันเกลี่ยสีนั้น ๆ ให้ไล่เข้าหากัน เกิดเป็นสีผสมใหม่
ซึ่งปกติระบายสีน้ำแบบไล่สี จะใช้เทคนิค wet on wet หรือเปียกบนเปียก ก็คือการระบายน้ำลงพื้นที่ที่ต้องการและค่อยจุ่มสีผสมกับน้ำลงตามทันที สีที่จุ่มลงไปจะฟุ้งกระจายออก โดยไม่ต้องรอให้ส่วนที่ระบายน้ำแห้งไปก่อน เทคนิคนี้จะช่วยให้สีน้ำ 2 สีของเรา เบลนด์เข้าให้กันได้สมูทมากขึ้น
3. เทคนิคระบายสีน้ำแบบฉาบเรียบ
การระบายสีแบบฉาบเรียบ ซึ่งเป็นการระบายสีให้เสมอกันในพื้นที่ที่เราจะลง เป็นเทคนิคทั่วไปแต่ก็ค่อนข้างยาก เพราะต้องคุมทั้งสีและน้ำในปริมาณที่พอเหมาะ ระบายลงทั้งช่องให้เท่ากัน
4. เทคนิคเปียกบนแห้ง
การระบายแบบ wet on dry หรือเปียกบนแห้ง โดยเราจะระบายสีพื้นทิ้งไว้ให้แห้งก่อน แล้วค่อยลงสีทับอีกชั้น เพราะสีน้ำมีคุณสมบัติโปร่งแสง ระบายทับแล้วยังเห็นสีชั้นล่างอยู่
แต่เทคนิคนี้จะต้องกะเวลาให้ดี เพราะถ้าเราลงสีทับอีกชั้นโดยที่สีชั้นล่างยังไม่แห้งดี อาจทำให้สีผสมกัน หรือสีจะด่างเอาได้
5. เทคนิคแห้งบนเปียก
ระบายแบบ dry on wet หรือแห้งบนเปียก โดยจะต้องระบายน้ำลงไปในพื้นที่ที่ต้องการก่อน และค่อยจุ่มสีข้น ๆ ลงไป ซึ่งจะทำให้สีฟุ้งออก คล้ายกับเทคนิคเปียกบนเปียกแต่สีจะฟุ้งไม่เท่า และเทคนิคนี้จะใช้ในงานที่ดูละมุน หรืออ่อนโยน เช่น การระบายสีท้องฟ้า หรือก้อนเมฆ เป็นต้น
สำหรับมือใหม่แล้ว การใช้สีน้ำจะเป็นอะไรที่ท้าทายสุด ๆ เพราะสีน้ำจะต้องอาศัยความใจเย็นมาก ๆ ในการควบคุมทิศทางของพู่กัน และการกะปริมาณน้ำให้เหมาะสม ถ้าได้ฝึกฝนบ่อย ๆ ทุกคนก็จะระบายสีน้ำได้คล่องมือเอง ลองเอา 5 เทคนิคนี้ไปฝึกกันดูน้า ~
_
Comments